๑๐๑. คำอธิบายกำลัง ๗ ประการ
(๑)"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความเชื่อ เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า พระผู้มีพระภาคนั้น
๑. เป็นพระอรหันต์ (ผู้ไกลจากกิเลส) ๒. เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ๓. เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ ๔. เป็นผู้เสด็จไปดี ๕. เป็นผู้รู้จักโลก ๖. เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกอย่างเยี่ยม ๗. เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์๘. เป็นผู้ตื่น (รวมทั้งปลุกผู้อื่นให้ตื่น) ๙. เป็นผู้มีโชค (เพราะทำเหตุที่จะให้เกิดโชคไว้)
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความเชื่อ."
(๒) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความเพียร เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ตั้งความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม (ธรรมฝ่ายชั่ว) เพื่อทำให้กุศลธรรม (ธรรมฝ่ายดี) สมบูรณ์ เป็นผู้ลงแรงบากบั่นมั่น ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความเพียร."
(๓) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความละอายต่อบาป เป็นไฉน? อริยสาวกไปพระธรรมวินัย เป็นผู้มีความละอาย คือละอายต่อกายทุจจริต (ความประพฤติชั่วทางกาย) วจีทุจจริต (ความประพฤติชั่วทางวาจา) มโนทุจจริต (ความประพฤติชั่วทางใจ) ละอายต่อการประกอบอกุศล บาปกรรมทั้งหลาย. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความละอายต่อบาป." (๔) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความเกรงกลัวต่อบาป เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเกรงกลัว คือเกรงกลัวต่อกายทุจจริต วจีทุจจริต มโนทุจจริต เกรงกลัวต่อการประกอบอกุศล บาปกรรมทั้งหลาย. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความเกรงกลัวต่อบาป." (๕) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความระลึกได้ เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะอันยอดเยี่ยม ย่อมระลึกได้ ย่อมนึกออกถึงสิ่งที่กระทำไว้นานแล้ว ถึงถ้อยคำที่พูดไว้นานแล้วได้. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความระลึกได้." (๖) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือความตั้งใจมั่น เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม (ความในอารมณ์ที่น่าใคร่) สงัดจากอกุศลธรรมเข้าสู่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔.๒ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า กำลังคือความตั้งใจมั่น." (๗) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังคือปัญญา เป็นไฉน? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยปัญญา เห็นความเกิดความดับ เป็นปัญญาอันประเสริฐ ชำแรกกิเลสได้ ทำให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่ากำลังคือปัญญา." ๒๓/๓,๔
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/interest/part4.2.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น